น้ำยากรดไฮโปคลอรัส (HOCl ความเข้มข้นต่ำ)
ขอขอบพระคุณ พ.อ. ดร. ประเสริฐ ชูแสง ที่ได้ช่วบเรียบเรียงบทความนี้ โดยในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ COVID-19 กำลังระบาดทั่วโลก ท่านได้เสียสละเวลา ศึกษา ค้นคว้าข้อมูลเรื่อง Hypochlorous Acid เป็นอย่างมาก เนื่องจากข้อมูลเรื่อง HOCl เป็นความรู้ใหม่ในเมืองไทย และยังไม่เป็นที่รู้จัก เข้าใจกันดีนัก ท่านจึงได้รวบรวมองค์ความรู้ ข้อเท็จจริง จากงานวิจัยทั่วโลก รวมถึงงานวิจัยในเมืองไทย และท่านได้ทำบทสรุปสั้นๆให้หลายๆท่านได้อ่านกันค่ะ
น้ำยากรดไฮโปคลอรัส (Hypochlorous Acid-HOCl)
แบบไหนที่มี สามารถฆ่าเชื้อได้ดี?
ผู้รวบรวม – พ.อ. ดร. ประเสริฐ ชูแสง
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หน่วยงานภาครัฐและบุคคลากรทางการแพทย์ได้ออกมารณรงค์ให้ประชาชนใช้แนวทางป้องกันหลัก 3 อย่างคือ การเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่อยู่ใกล้ชิดใครเกิน 1.5 – 2 เมตร, การล้างมือบ่อยๆ หรือใช้เจลเช็ดมือ ไม่สัมผัสใบหน้าโดยเฉพาะตา จมูกและปากที่เป็น 3 ทางหลักที่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกาย, และการใส่หน้ากากอนามัย
แต่เนื่องจากการติดเชื้อในที่สาธารณะนั้น มีอีกสิ่งหนึ่งที่เรามองไม่เห็นคือ การ ”เดินชน” ละอองฝอย (droplets) ขนาดมากกว่า 5 ไมครอน ที่มีผู้ไอ จาม หรือแม้แต่พูดออกมา ละอองฝอยเหล่านี้ แม้จะอยู่ในอากาศได้ประมาณ 5 นาที แต่ก็นานเพียงพอที่จะให้พวกเราเอาเสื้อผ้า แขนขา เส้นผม ใบหู ตลอดจนส่วนของใบหน้าไป “เดินชน” ละอองฝอยเหล่านี้ และเอามือป้ายเข้าตา จมูกและปากได้ในภายหลัง เชื่อว่าคงไม่มีใครเอาเจลแอลกอฮอล์ไปทาผม, หู, หน้าผากเพื่อฆ่าเชื้อโรคเป็นแน่
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือกรณีที่สนามมวย ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อจากกรณีนี้ร่วม 100 คนแล้ว พอดูให้ละเอียดลงไป ผู้ติดเชื้อมีตั้งแต่พิธีกรบนเวทีทั้งคู่ เจ้ากรมฯ นักมวย เซียนมวย และที่น่าสนใจมากก็คือ “คนปล่อยแถวนักมวย” (ซึ่งไม่น่าจะเดินไปไหนมากนัก) สมมุติว่า ในวันนั้นมีผู้แพร่เชื้อ 1-2 คน คนอีกร่วมร้อย คงไม่ได้มาใกล้ชิดทั้ง 2 คนนี้ทุกคนกระมัง? และคงไม่ได้สัมผัสหรือจับพื้นผิวสาธารณะร่วมกับทั้ง 2 คนนี้กระมัง? สถานการณ์นี้น่าจะคล้ายคลึงกับโบสถ์ในนิวยอร์ค ที่เข้าผู้ร่วมทั้ง 60 คน มีเครื่องป้องกันดีพอสมควร เว้นระยะห่าง และไม่มีการสัมผัส แต่ก็ติดเชื้อถึง 45 คนและ ตายไปแล้ว 2 ราย ตอนนี้ คงความเป็นไปได้เหลือแค่ละอองฝอย (droplets) หรือละอองฝอยที่เล็กกว่านั้น (aerosol) – ที่ยังล่องลอยอยู่ (ถ้ามี)
ดังนั้น คงจะเป็นประโยชน์มาก หากเราจะมีน้ำยาฆ่าเชื้อสักอย่างหนึ่ง ที่สามารถพกติดตัว และใช้ฉีดพ่นทำความสะอาดพื้นผิวได้ด้วย ฉีดแขนขา หน้าตา และเอากลับไปฉีดที่บ้านได้ด้วย
น้ำยาอะไรดี?
- น้ำยาฆ่าเชื้อ (disinfectant) ที่ใช้กันได้แก่ แอลกอฮอล์, ฟีนอลและอนุพันธ์, สารประกอบคลอรีน, ด่าง, กรดต่างๆ, แอมโมเนีย เป็นต้น
- น้ำยาส่วนใหญ่ ใช้กับพื้นผิว แต่ไม่ควรนำมาฉีดร่างกาย แต่มีน้ำยาชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้าแยกน้ำและเกลือแกง ซึ่งปลอดภัย เมื่อมีความเข้มข้นที่เหมาะสม ก็นำมาใช้กับร่างกาย (คือเป็น antiseptic) ได้ด้วย สามารถฉีดที่แขนขา-หน้าตา รวมถึงพื้นผิวได้เลย เรียกว่า Hypochlorous Acid – HOCL หรือ กรดไฮโปคลอรัส นักเคมีเขาก็ยืนยัน ต่างประเทศเขาก็ใช้ ดังนี้ https://youtu.be/t_bx1RGrv5M (วิธีทดสอบการฆ่าเชื้อของ HOCL โดยใช้ ATP Meter)
- น้ำยานี้ คนไม่ค่อยรู้กันและเขาไม่ค่อยผลิตขาย เนื่องจากเวลาในการเก็บก่อนเสื่อมสภาพ (shelf life) สั้นมาก คือประมาณ 10-15 วันประสิทธิภาพก็จะลดลงมาก แต่ในสถานการณ์แบบนี้ หากทำแจกบ้านละ 1/2 ลิตร ทุกคนแฮปปี้เลย ถ้าไปในพื้นที่ไหนมาที่ไม่แน่ใจ ก็ถอดหน้ากากแล้วฉีดใส่หน้าตา แขนขา เส้นผมตัวเองเลย หรือใช้ฉีดใส่บานประตู ลูกบิด ราวบันไดที่บ้านก็ได้
- เครื่องผลิต HOCl เป็นนวัตกรรมที่ใช้มานานแล้ว แต่ใช้ประโยชน์หลักๆ เฉพาะด้าน เช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร ใช้ฉีดพ่นผักสด ผลไม้ หรือแบบเข้มข้นหน่อย ใช้ล้างพื้นผิว และภาคการศึกษาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือสระว่ายน้ำระบบเกลือ ก็ใช้หลักการที่คล้ายคลึงกัน ออสเตรเลียเขาก็ใช้เป็นสารฆ่าเชื้อโรค ดังนี้ https://www.health.gov.au/sites/default/files/documents/2020/03/environmental-cleaning-and-disinfection-principles-for-covid-19.pdf
- ประสิทธิภาพของเครื่องพวกนี้ ถ้าเป็นเครื่องขนาดเล็ก ก็ตกประมาณเครื่องละ 2-8 แสนบาท บางเครื่องมีกำลังผลิตประมาณ 100 ลิตรต่อชั่วโมง หรือวันละ 800 ลิตร (8 ชม.) ถ้าทำแจกประชาชนคนละครึ่งลิตร ก็แจกได้ถึงวันละประมาณ 1,600 คน ค่าใช้จ่ายในการผลิต ก็มีแค่ค่าไฟ ค่าน้ำและค่าเกลือ (แต่บางรุ่นต้องใช้สารตั้งต้น ที่มีความเป็นกรดด้วย)
- โรงพยาบาลในอริโซน่า ใช้น้ำยาชนิดนี้ในการฆ่าเชื้อ https://www.news9.com/story/41823767/arizona-company-invents-technology-that-kills-covid-19-in-hospital-patient-rooms#.Xneh_9IW6U8.facebook
- ในสหรัฐฯ ก็จัดน้ำยาตัวนี้เข้าในรายการของหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนี้ https://www.epa.gov/pesticide-registration/list-n-disinfectants-use-against-sars-cov-2
มีใครทำแจกแล้วบ้าง?
- อันนี้เป็นตัวอย่างที่เขาแจกกันที่ไต้หวัน https://www.facebook.com/142765199078274/posts/3083765508311547/?d=null&vh=e
- https://www.facebook.com/100001436286564/posts/2975167132541134/?d=n คุณตันเขาก็เริ่มผลิตแจกพนักงานและคนในตึกของเขาแล้วนะ คิวยาวเชียว
- อย่างไรก็ดี HOCl ที่ใช้ส่วนใหญ่ จะกำหนดไว้ให้มีความเข้มข้นของฟรีคอลรีน (Free Available Chlorine – FAC หรือ FC) สูง เช่น 60-100 ส่วนใน 1 ล้านส่วน (part per million – ppm), หรือผลิตให้อยู่ในสภาวะกรดอ่อน (pH 5.5-6.5) และเข้มข้น 20-30 ppm ซึ่ง 2 ค่านี้ต้องดูประกอบกัน เช่น ที่ pH 5 ตัวน้ำยาจะมี Chlorine concentration สูงกว่า 90% แต่ถ้า pH 6 ความเข้มข้นของคลอรีนก็จะต่ำลงมา (ในบางเอกสาร กล่าวถึง FAC เพียงแค่ HOCl โดยเรียก HOCl + OCl- ว่าเป็น Total Free Chlorine, บางแห่งกล่าวว่า FAC=HOCl+Cl2+OCl-, บางแห่งกล่าวว่า FAC=HOCl + OCl- แต่ตัวหลักที่ทำปฏิกิริยาจริงๆ ก็คือ HOCl)
FAC มีอยู่ 3 แบบ: แก้ส chlorine, กรด hypochlorous และ hypochlorite.
สมมุติที่ 25 องศา C, เมื่อ pH น้อยกว่า 3, free chlorine ก็จะเริ่มออกมาจากสารละลายในรูปของแก้ส chlorines แต่เมื่อ pH มากกว่า 7.5, ในสารละลายจะมี hypochlorite (OCl-) กว่าครึ่งและจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ pH เพิ่มขึ้น หาก pH อยู่ระหว่าง 3-7.5 สารละลาย free chlorine จะมีกรด hypochlorous (HOCl) เป็นตัวเด่น3
- ข้อควรระวัง หากน้ำยา (HOCl แบบทั่วๆ ไป) มีความเป็นกรดมาก (pH น้อย) และ/หรือ ปริมาณคลอรีนมาก (ppm สูง) ก็อาจเกิดอาการแพ้คลอรีนที่ผิวหนัง โดยเฉพาะหนังศีรษะ เช่นเดียวกับการแพ้คลอรีนจากสระว่ายน้ำ แต่หากมีความเป็นกรดน้อย (เช่น pH 5-6 และปริมาณคลอรีนน้อย (เช่น 20 ppm) ด้วย ก็จะลดประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อลง
- น้ำยาที่แตกต่าง อย่างไรก็ตาม ก็มีการผลิตน้ำยา HOCl ที่มีค่าความเป็นกรดมาก (เช่น pH 2.5 ใกล้เคียงกับมะนาว) แต่มีปริมาณคลอรีนน้อย (เช่น น้อยกว่า 20 ppm)
*********************************
วัตถุประสงค์ของเอกสาร เพื่อรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้น้ำยา ที่มีความเข้มข้นของ HOCl น้อย (ปริมาณคลอรีนต่ำ)แต่ ORP สูง
- Oxidation-Reduction Potential (Eh หรือ ORP) ศักยภาพการเกิดออกซิเดชัน รีดักชัน หมายถึง ความสามารถในการปฏิกิริยาออกซิเดชัน เมื่อเกิดการถ่ายเทอิเล็กตรอนจากสารชนิดหนึ่งไปยังสารอีกชนิดหนึ่ง จะเกิดความต่างศักย์ ซึ่งวัดได้ด้วยเครื่องมือวัดความต่างศักย์ มีหน่วยเป็นมิลลิโวลต์ (mV) สารที่มีความสามารถเป็นตัวออกซิไดส์ที่ดี จะมีค่า ORP เป็นบวกมาก (เช่น 1,000 mV ขึ้นไป) ในทางตรงข้ามสารที่เป็นตัวรีดิวส์ที่ดี จะมีค่า ORP เป็นลบมาก1
ผนังเซลล์ของเชื้อโรคส่วนใหญ่ จะเป็นประจุลบ (negatively charged)
- น้ำอิเล็กโทรไลต์ที่มีค่า ORP ที่สูง แสดงถึงความสามารถในการออกซิไดซ์ (Loss of Electron = Oxidation) สูง ค่า ORP ที่สูงจะทำให้เกิดการดึงอีเลกตรอนจากแบคทีเรียหรือไวรัสที่มันได้สัมผัส ทำให้เชื้อโรคตาย น้ำอิเล็กโทรไลต์ที่ความเข้มข้น 2.5 ppm สามารถที่จะกำจัดแบคทีเรียทั้งหมดได้ ซึ่งตรงตามมาตรฐานน้ำประปา2
- น้ำยา HOCl โดยทั่วไปมักมีความเป็นกรดอ่อนๆ และมีประจุค่อนข้างเป็นกลาง (neutrally charged) จึงสามารถแทรกเข้าไปในผนังเซลล์ของเชื้อโรคได้โดยง่าย โดยที่มีค่า ORP สูง3 แต่ก็มีน้ำยา HOCl บางประเภท ที่เป็นกรดมาก (pH < 3) และมี ORP>1,000 mV ขึ้นไป ซึ่งช่วยในการทำปฏิกิริยาทางไฟฟ้ากับผนังเซลล์เช่นกัน
- คลอรีนฆ่าเชื้อได้โดยการทำลายการยึดเหนี่ยวทางเคมีของโมเลกุลเชื้อโรค เมื่อมีปฏิกิริยาของ HOCl ในน้ำ HOCl จะแตกตัวเป็น Hydrochloric Acid (HCl) และ Atom air Oxygen (O) ซึ่งเป็นสารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูง (high oxidant) และเมื่อเอนไซม์ของโมเลกุลถูกคลอรีน (โดยการซึมผ่านผนังเซลล์ด้วยการมีประจุบวกหรือเป็นกลาง) ไฮโดรเจนอะตอม 1 หรือมากกว่าในโมเลกุลจะถูกแทนที่ด้วยคลอรีน ซึ่งจะทำให้เซลล์ตาย
เอกสารวิจัยบางฉบับให้ความสำคัญต่อคุณสมบัติ 2 ประการนี้ (based on oxidizing power of the free oxygen atoms and on chlorine substitution reactions)4
- มีงานวิจัยที่เปรียบเทียบระหว่างน้ำยา HOCl ที่มีความเป็นกรดและเป็นกลางในการฆ่าเชื้อไวรัส H5N1 และ H9N2 ผลการวิจัยพบว่า ถ้าใช้น้ำยาที่ค่อนข้างเป็นกลาง ต้องมีค่าคลอรีนที่มากกว่า 40 ppm และจะไม่ได้ผลเลย ถ้า FAC ต่ำกว่า 17 ppm อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้น้ำยาที่เป็นกรด ค่าคลอรีนจะมีได้ตั้งแต่ 0 ถึง 72 ppm5 ซึ่งผู้วิจัยระบุว่า “Thus, the virucidal effect of Acidic Electrolyzed Water (AEW) did not depend on the presence of FAC.”
- มีผลการทดสอบจากห้องแล็ปอิสระพบว่าน้ำยาฆ่าเชื้อแบบ strong acid water (pH2.5) [ผู้รวบรวม: ที่มีค่า FAC ต่ำ (16 ppm) แต่มีค่า ORP สูง (> 1,000)] มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ 4 ชนิดได้ตามมาตรฐานของสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (US EPA)6
- มีงานวิจัยที่ระบุว่า HOCl pH2.5 [ORP สูง] สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำยาที่ pH สูงกว่า เช่น 6.0, 7.0, 8.5, 9.0 และ 9.57
- มีผลการทดสอบจากห้องแล็ปอิสระ เปรียบเทียบน้ำยาฆ่าเชื้อแบบ strong acid water (pH2.2) ที่มีค่า FAC ต่ำ (15.7 ppm) แต่มีค่า ORP สูง (1164) มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ 7 ชนิดได้ดีกว่าน้ำยา Sodium Hypochlorite pH9, ORP 726 และ FAC 16.9 เอกสารอ้างอิง 8
- มีผลการศึกษาประสิทธิภาพของน้ำยา HOCl ที่มี pH 2.34, ORP 1034 mV, free chlorine content 4.20 ppm ต่อการฆ่าเชื้อ Hepatitis B และ HIV พบว่ามีประสิทธิภาพดี9
- มีผลการทดสอบที่ใช้ Nernst Equations ประกอบกับอิเลคตรอนไมโครสโคปและสารเรืองแสง ในการอธิบายประสิทธิภาพของน้ำยา HOCl ที่มีค่า pH และ FAC เท่าๆกัน (pH 2.5, FAC 50 ppm) แต่มีค่า ORP ต่างกัน (ORP 1150 mV, 1105 mV, 800 mV) พบว่า
– น้ำยาที่มีค่า pH และ FAC เท่าๆ กัน ภายใน 10 วินาที ตัวที่มี ORP สูง กลาง และต่ำ สามารถฆ่าเชื้อได้ 95%, 80% และ 48% ตามลำดับ
– ผนังเซลด้านนอกของเชื้อ ถูกทำลายใน 4 วินาที ผนังด้านในถูกทำลายใน 7 วินาที
– ORP ที่สูงทำให้เกิดการทำลาย oxidation state ของสาร Glutathione disulfide-glutathione couple (GSSG/2GSH ) จากนั้นจึงเจาะผ่านผนังด้านนอกและด้านในของเซลล์ ตามลำดับ10
-
มีผลการทดสอบโดยใช้น้ำยา HOCl ที่มีค่า pH ต่ำใกล้เคียงกัน (2.5-2.6) และ ORP สูงใกล้เคียงกัน (ORP 993 หนึ่งตัวอย่าง และ ORP1,100 ขึ้นไปอีก 6 ตัวอย่าง)11 พบว่า
– เมื่อให้ระดับ pH ต่ำ และ ORP สูง ดังกล่าว น้ำยายังคงประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้เป็นอย่างดี แม้ว่าน้ำยาแต่ละตัวจะมี FAC ที่แตกต่างกันมาก (residual Chlorine 0, 10, 13, 56 และ 60 mg/L)
– เมื่อใช้สารเคมีปรับอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ให้ค่า pH ใกล้เคียงกับของเดิม (2.4-2.7) ค่า residual Chlorine เท่าๆ เดิม (0, 10, 13, 56 และ 60) แต่ลด ORP ให้ต่ำลงเกือบทุกตัว (303, 322, 256, 391, และ 541) มีน้ำยาชุดเดียวที่คงค่า ORP ไว้ที่ 1,122 ผลปรากฏว่า น้ำยาเกือบทุกตัว (เว้นตัวที่ ORP 1,122) สูญเสียประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไปทั้งสิ้น โดยมีเชื้อโรคคงเหลือเท่าๆ กับการใช้น้ำเปล่า (แม้ว่าจะมี %Chlorine สูงถึง 56 หรือ 60 mg/L ก็ตาม)
– ผู้วิจัยสรุปว่า “ORP should be considered as the primary indication of disinfection (or oxidation) capacity.”
หมายเหตุ ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 63 ผู้รวบรวมได้รับความกรุณาจากผู้แทนจำหน่ายเครื่องผลิตระบบอิเล็กโทรไลซีส ซึ่งสามารถน้ำยาชนิดที่เป็นกรดที่ pH ต่ำกว่า 2.5, มี FAC ไม่เกิน 20 ppm (ตามสเปคของเครื่อง) และ ORP ที่วัดจากน้ำยาที่ผลิตได้คือ 1357 mV ให้ทำการทดสอบการเพิ่มคลอรีนผง ซึ่งผลที่ได้จากการทดสอบคือ ค่า ORP ไม่ได้ลดลง กลับเพิ่มขึ้นเป็น 1406 mV ภายใน 1-2 นาที
ข้อสรุปต่อคำถาม น้ำยา HOCl (ORP สูง) แต่คลอรีนต่ำ สามารถฆ่าเชื้อได้ดีไหม?
- จากเอกสารที่รวบรวม ผู้รวบรวมเชื่อว่า:
– ในการฆ่าเชื้อ ค่าความเป็นกรด-ด่าง-กลางของน้ำยา, ปริมาณคลอรีนก็สำคัญ แต่ ORP น่าจะสำคัญกว่า เพราะน้ำยาต้องทำลายผนังเซลล์ก่อน atom air oxygen และคลอรีนจึงจะทำงานได้
– กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าผนังเซลล์ไม่สามารถถูกเจาะด้วยความเป็นประจุบวก (หรืออย่างน้อยก็เป็นกลาง) เพราะน้ำยามีค่า ORP ต่ำ:Oxygen (atom air) และคลอรีนจะทำงานได้อย่างไร? แต่ถ้าค่า ORP สูง, แต่ค่า FAC ต่ำ ผนังเซลล์ถูกเจาะได้ก็จริง จะหา Oxygen และคลอรีนมาจากกไหน?
– ถ้าจะใช้ฉีดพื้นผิว เลือกน้ำยาที่มีคลอรีนเยอะได้ แต่ถ้าจะใช้ฉีดผิวหนัง ควรเลือกน้ำยาที่มีความเป็นกรดมากหน่อยได้ แต่ต้องไม่เกิดอาการต่อร่างกาย
ท้ายที่สุดนี้ เนื่องจาก HOCl ในท้องตลาดขณะนี้ บางอย่างก็เป็นกรดอ่อน (อาจมี FAC สูง, แต่ก็มีค่า ORP ต่ำ) บางอย่างเป็น Strong Acid (และมีค่า ORP สูง แต่ FAC ต่ำ) ถ้าเราเอาน้ำอย่างหลังนี้ มาเติมคลอรีนผงไปเล็กน้อย (หรือเพิ่มเวลาในการออกซิไดซ์) เพื่อเพิ่ม FAC ให้อยู่ประมาณ 40-50 ppm โดยที่ ORP ไม่ลดลง ผู้รวบรวมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้น้ำยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการฆ่าเชื้อต่อโควิด-19 ในสถานการณ์ฉุกเฉินและจำเป็นที่ประเทศไทยประสบอยู่นี้
เอกสารอ้างอิง
- http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1289/oxidation-reduction-potential-eh-%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%99
- การประยุกต์ใช้น้ำอิเล็กโทรไลต์แบบกรดเพื่อฆ่าเชื้อโรคในกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำประปา Application of Acidic Electrolyte Water for Disinfection In Water Supply Treatment, ศิริอุมา เจาะจิตต์, วาริท เจาะจิตต์, ปนัดดา พิบูลย์, ภาณุพงศ์ เลี่ยมสว่าง และอรุณลักษณ์ กาญจนพิทักษ์, สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตำบลไทยบุรีอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช 80161, Corresponding Author, E-mail: jsiriuma@gmail.com, Received: 5 July 2018.
- https://www.hypochlorousacid.com/about
- https://www.lenntech.com/processes/disinfection/chemical/disinfectants-chlorine.htm คลอรีนฆ่าเชื้อได้อย่างไร
- https://link.springer.com/article/10.1007/s00705-013-1840-2
- Final Study Report “Germicidal and Detergent Sanitizing Action of Disinfectants”, Anne Stemper, Study Director, June 22, 2010.
- Research Article “ANTIBACTERIAL, IN VITRO CYTOTOXIC, AND ANTIOXIDANT ACTIVITIES OF ELECTROLYZED OXIDIZING/REDUCING WATER”, ASMIYENTI DjALIASRIN DjALIL, ELZA SUNDHANI, RETNO WAHYUNINGRUM, DWI HARTANTI, NONI LESTIOWATI, PRAYOG0 PANGESTU, RIDWAN SETIAJI, SUWANDRI SUWANDI, International Jounal of Applied Pharmaceutical, ISSN-0975-7058, Vol 11, Special Issue 5, 2019.
- Study Report No. 16-0121_2 “Bactericidal Effects of Electrolyzed Water”, Kitasato Research Center of Environmental Sciences, November 30, 2004.
- Journal of Virological Methods 85(2000) 163-174, “Disinfection potential of electrolyzed solutions containing sodium chloride at low concentrations”, Chizuko Morita, Kouichi Sano, Shinichi Morimatsu, Hiromasa Kiura, Toshiyuki Goto, Takehiro Kohno, Wu Hong, Hirofumi Miyoshi, Atsuo Iwasawa, Yoshiko Nakamura, Masami Tagawa, Osamu Yokosuka, Hiromitsu Saisho, Toyoyuki Maeda, Yoji Katsuoka, 2 November 1999.
- http://ecaaser3.ecaa.000ntu.edu.tw/weifang/water/The%20generation%20and%20inactivation%20mechanism%20of%20ORP%20of%20EOW.pdf
- Roles of Oxidation–Reduction Potential in Electrolyzed Oxidizing and Chemically Modified Water for the Inactivation of Food-Related Pathogens CHYER KIM, YEN-CON HUNG,* AND ROBERT E. BRACKETT, Journal of Food Protection, Vol. 63, No. 1, 2000, Pages 19–24. https://jfoodprotection.org/doi/pdf/10.4315/0362-028X-63.1.19